top of page

ระวังให้ดี “KeySweeper” สุดเจ๋งดูดข้อมูลจากคีย์บอร์ดไวร์เลส

Writer: ไชยรัตน์ ชื่นกมลไชยรัตน์ ชื่นกมล

ไมโครซอฟท์งานเข้า เจอแฮกเกอร์หัวใสผลิตอุปกรณ์ดูดข้อมูลจากคีย์บอร์ดไวร์เลสของทางค่ายให้มีหน้าตาไม่ต่างจากที่ชาร์จโทรศัพท์มือถือ แถมส่งคลิปเผยวิธีสร้างตัวดูดข้อมูลกันอย่างโจ่งแจ้ง โลกทุกวันนี้อยู่ยากขึ้นทุกที เพราะขนาดอุปกรณ์ที่มีหน้าตาดังภาพด้านบนที่ใครๆ ก็คงคิดว่ามันคือเครื่องชาร์จสมาร์ทโฟนธรรมดาๆ ที่ใครสักคนคงลืมเอาไว้ แต่แท้ที่จริงมันคืออุปกรณ์ดักข้อมูลจากคีย์บอร์ดไร้สายที่สามารถเก็บได้ทุกข้อมูลการคีย์เลยทีเดียว สำหรับเจ้า KeySweeper ตัวนี้เป็นผลงานของแฮกเกอร์หนุ่ม Samy Kamkar ที่เผยคลิปอธิบายวิธีการผลิต และการทำงานอย่างละเอียดนานกว่า 27 นาที โดยความสามารถที่โดดเด่นของ KeySweeper มีตั้งแต่การจับข้อมูลการคีย์ของคุณได้ รวมถึงวิเคราะห์ได้ว่าเจ้าของคีย์บอร์ดกำลังทำงานสำคัญหรือไม่ เช่นหากพบว่าเจ้าของคีย์บอร์ดมีการคีย์ชื่อเว็บไซต์ประมาณ topsecretwebsite.com มันจะจับข้อมูลทุกอย่างที่คุณคีย์เข้าไปทั้งยูสเซอร์เนม และพาสเวิร์ด ส่ง SMS กลับไปให้ยานแม่ทันที นอกจากนั้น อีกความสามารถหนึ่งคือการอำพรางตัวเองเป็นที่ชาร์จโทรศัพท์ ซึ่งทำได้ค่อนข้างเหมือนทีเดียว เพราะหากมีใครบางคนดึงมันออกมาจากปลั๊กไฟ แสงไฟสีแดงก็จะดับลง และมันจะสวิตช์จากไฟบ้านไปใช้ไฟจากแบตเตอรี่ที่ติดตั้งอยู่ภายในเครื่องแทน และยังสามารถดักจับข้อมูลการคีย์ต่อไปได้ด้วย สำหรับงบประมาณในการสร้าง KeySweeper หนึ่งชิ้น Samy เผยว่าอาจตกที่ 10-80 เหรียญสหรัฐ ขึ้นอยู่กับฟีเจอร์ที่เราต้องการว่าเราต้องการให้มันทำอะไรได้บ้าง และบอร์ดต่างๆ นั้นก็สามารถหาซื้อได้ตามอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ดี คีย์บอร์ดยี่ห้อดังๆ รุ่นใหม่ๆ มักจะมาพร้อมระบบการเข้ารหัสข้อมูลเพื่อป้องกันการดักจับข้อมูลจากคีย์กันหมดแล้ว ส่งผลให้คีย์บอร์ดที่ตกเป็นเหยื่อมักเป็นรุ่นเก่าๆ ที่ยังไม่มีการติดตั้งระบบเข้ารหัส และหวยมาออกที่ชื่อของไมโครซอฟท์ (Microsoft) นั่นเอง

แม้ทางไมโครซอฟท์ได้ออกมาระบุว่า คีย์บอร์ดไวร์เลสที่ได้รับผลกระทบจาก KeySweeper ตัวนี้มีเฉพาะรุ่น 2.4GHz ที่เปิดตัวไปก่อนเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2011 หรือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ส่วนรุ่นใหม่ๆ ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด แต่ทางแฮกเกอร์ Samy ก็ได้ออกมาเผยต่อว่า คีย์บอร์ดรุ่นที่บริษัทกล่าวอ้างนั้น ปัจจุบันยังมีการผลิตและจำหน่ายอยู่ แถมยังจำหน่ายบนเว็บไซต์ของไมโครซอฟท์เอง รวมถึงร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่อย่าง Best Buy ด้วย โดยแฮกเกอร์ Samy เผยว่า เขาได้ไปซื้อคีย์บอร์ดรุ่นดังกล่าวมาจาก Best Buy เมื่อเดือนที่แล้ว และวันเดือนปีที่ผลิตบนคีย์บอร์ดระบุว่า ผลิตเมื่อ "07/2014" ด้วย ดังนั้น หากใครพบอุปกรณ์หน้าตาดังที่เห็นในภาพตามปลั๊กไฟในออฟฟิศ แทนที่จะคิดหาตัวเจ้าของเพื่อนำไปคืน อาจเป็นการดีกว่าที่จะลองถอดออกมาดูว่าส่วนประกอบภายในเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าคุณพบว่ามันเต็มไปด้วยแผงวงจรมากมาย นั่นอาจไม่ใช่แค่เครื่องชาร์จมือถือธรรมดาๆ แล้ว แต่อาจเป็นอุปกรณ์สอดแนม คอยล้วงข้อมูลของคุณอยู่ก็เป็นได้ อย่างไรก็ดี แฮกเกอร์ Samy เผยว่า เขาไม่ได้ต้องการผลิต KeySweeper เพื่อจำหน่าย หรือหวังประโยชน์แต่อย่างใด และเสียงตอบรับจากผู้เข้าชมก็เป็นไปในทางที่ดีด้วย ในแง่ที่ว่าโปรเจกต์ของ Samy ช่วยเตือนให้คนทั่วไประมัดระวังได้มากขึ้นนั่นเอง

 
 
 
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square
Search By Tags
bottom of page